พระราชสังวรญาณ(หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
-:- หลวงพ่อพุธ ปรารภเรื่อง การละสังขาร -:-
เมื่อปี พ.ศ.2539 หลวงพ่อพุธท่านอาพาธ ไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ท่านได้ปรารภเรื่องการละสังขารไว้ว่า ...
ต่อไปนี้จะลองทายชีวิตของตนเองดู ...
ตกเดือนมีนาคม มันจะเกิดอะไรหนักๆ สักอย่างหนึ่งทุกรอบปี
ปีนี้อายุ 76 เป็นปีมรณะ ... ปีอายุ 77 พอผ่านจากนี้ไปแล้วไม่มีอะไร แต่ปีอายุ 78 ... ถ้ารอดปีอายุ 78 ไปได้แล้วจะอยู่ถึงอายุ 90
คณะศิษย์ที่ฟังอยู่ได้กราบอาราธนา ขอให้หลวงพ่อมีอายุถึง 100 ปี ซึ่งหลวงพ่อนิ่งไม่รับ และได้กล่าวว่า ...
แล้วแต่พ่อเสี่ยวเขา ...
เมื่อกราบเรียนถามว่าพ่อเสี่ยวหมายถึงใคร...
หลวงพ่อตอบว่า ... พ่อเสี่ยว คือ พระยายมราช ...
ซึ่งคณะศิษย์ได้กราบอาราธนาขอให้หลวงพ่อมีอายุถึง 100 ปีอีกครั้ง
หลวงพ่อกล่าวว่า ... เออ ... อยู่จนอยู่ไม่ได้นั่นแหละ ...
แล้วหลวงพ่อท่านก็ละสังขารเมื่ออายุ 78 ปี
ในวันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2542
การพยากรณ์วันละสังขาร มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรที่ไปพบประมาณ 2 ปี ก่อนละสังขาร ซึ่งช่วงนั้นท่านยังไม่ได้อาพาธด้วยโรคมะเร็ง มีแต่เบาหวานโรคเดียว
วันนั้นท่านสั่งให้ลูกศิษย์จัดตู้หนังสือ พระที่จัดอยู่ไปพบกระดาษแผ่นเล็กๆ เป็นลายมือของหลวงพ่อ เป็นกราฟเลข 7 ตัว มีวงกลมรอบเลข 78 ว่า
"เตรียมตัวได้ชีวิตต้องสิ้นสุด" ไม่ได้กราบเรียนถามว่าท่านเขียนไว้ตั้งแต่เมื่อไร
ภายหลังที่ท่านมรณภาพ คณะกรรมการวัดและคณะศิษย์ได้ไปตรวจนับข้าวของเครื่องใช้ในกุฏิท่านเพื่อขึ้นทะเบียน ได้พบแผ่นกระดาษที่เขียนด้วยลายมือหลวงพ่อ ท่านเขียนไว้ว่า ...
“เกิด..แก่..เจ็บ..ตาย..เป็นเรื่องธรรมดา..
ถ้าเราไม่ยอมรับความจริง ก็เหมือนเราไม่เชื่อคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่สมกับเป็นชาวพุทธ”
โอวาทธรรม หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา
(จิระพันธ์ ออสวัสดิ์ ขออนุญาตบันทึกไว้ เนื่องด้วยเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในวันที่ท่านปรารภเรื่องการละสังขาร)
ชาติภูมิ
พระราชสังวรญาณ หรือ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย มีชาติกำเนิดในสกุล “อินหา” เกิดเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๔ ตรงกับวันพุธ เดือน ๓ ปีระกา เวลา ๐๕.๑๐ น. ที่บ้านหนองโดน ตำบลหนองโดน อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี
บิดาชี่อพร มารดาชื่อสอน อินหา ท่านเป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ซึ่งมีอาชีพกสิกรรม
บรรพชา
บรรพชา ณ วัดอินทสุวรรณ บ้านโคกพุทรา ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ อายุ ๑๕ ปี โดยมีท่านพระครูวิบูลย์ธรรมขันธ์ เจ้าคณะอำเภอสว่างแดนดินฝ่ายมหานิกาย เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูโพธิภูมิไพโรจน์ (หมุน โพธิญาโณ) เป็นอาจารย์สอนในขณะเป็นสามเณร ท่านสามารถสอบนักธรรมชั้นตรีได้ ณ วัดแห่งนี้
การบรรพชาครั้งที่ ๒ เป็นสามเณรธรรมยุตเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ณ วัดบูรพาราม โดยมีพระศาสนดิลก แห่ง วัดศรีอุบลรัตนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ มีท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโลและพระอาจารย์พร สุมโน เป็นอาจารย์สอนภาวนาและข้อวัตรปฏิบัติในขณะนั้น
พ.ศ. ๒๔๘๒ สอบนักธรรมชั้นโทได้ที่สำนักเรียนวัดสุปัฏวนาราม
พ.ศ. ๒๔๘๓ สอบนักธรรมชั้นเอกได้ที่สำนักเรียนวัดสุปัฏวนาราม
พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านเดินทางเข้ามาเรียนหนังสือบาลีต่อที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ สามารถสอบเปรียญธรรม ๓ ประโยคได้ในขณะเป็นสามเณร
อุปสมบท
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย อุปสมบท ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยมีพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูปทุมธรรมธาดา ภายหลังดำรงตำแหน่งเป็นพระธรรมปาโมกข์ (บุญมั่น มนฺตาสโย) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดบัวเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายามคธว่า “ฐานิโย” ซึ่งแปลความหมายว่า ผู้ตั้งมั่นในคุณธรรม
จำพรรษา
พรรษาที่ ๑ - ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๔๘๖) จำพรรษา ที่ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
พรรษาที่ ๓ - ๗ (พ.ศ. ๒๔๘๗ -๒๔๘๙) จำพรรษา ที่ วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พรรษาที่ ๖ (พ.ศ.๒๔๙๐) จำพรรษา ที่วัดเขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น
พรรษาที่ ๗ - ๑๒ (พ.ศ. ๒๗๙๐ - ๒๔๙๖) จำพรรษา ที่วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี (๒๔๙๑ สอบเปรียญธรรม ๔ ประโยคได้)
พรรษาที่ ๑๓ - ๒๖ (พ.ศ. ๒๔๙๗ - ๒๕๑๐) จำพรรษา ที่วัดแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี (เป็นเจ้าคณะอำเภอวารินชำราบและเป็นพระครูพุทธิสารสุนทร)
พรรษาที่ ๒๗ - ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๑ -๒๕๑๒) จำพรรษา ที่วัดหลวงสุมังคลาราม อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ (เป็นพระราชาคณะที่พระชินวงศาจารย์)
พรรษาที่ ๒๙ - ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๑๓ - ๒๕๒๗) จำพรรษา ที่วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา (เป็นพระราชาคณะที่พระภาวนาพิศาลเถร)
พรรษาที่ ๔๔ (พ.ศ. ๒๕๒๘) จำพรรษา ที่สุญญาคาร (เรือนว่าง) อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา
พรรษาที่ ๔๕ - ๔๖ (พ.ศ. ๒๕๒๙ - ๒๕๓๐) จำพรรษา ที่วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
พรรษาที่ ๔๗ - ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๓๑ - ๒๕๓๒) จำพรรษา ที่วัดวะภูแก้ว บ้านวะภูแก้ว ตำบลมะเกลือใหม่ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา
พรรษาที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๓) จำพรรษา ที่วัดป่าชินรังสี ตำบลคลองนา อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
พรรษาที่ ๕๐ (พ.ศ. ๒๘๓๔ ) จำพรรษา ที่วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
พรรษาที่ ๕๑ - ๕๔ (พ.ศ. ๒๕๓๕ -๒๕๓๘) จำพรรษา ที่วัดป่าชินรังสี ตำบลคลองนา อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา (เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสังวรญาณ)
พรรษาที่ ๕๕ - ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๓๙ - ๒๕๔๑) จำพรรษา ที่วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
ในหลวงกับพระป่ากรรมฐาน
(ภาพ)พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชโอรส
และพระราชธิดา กราบนมัสการหลวงพ่อพุธ ที่วัดป่าสาลวัน
พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา ราวปี พ.ศ. 2525 ได้เดินทางเข้าเฝ้าฯ
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่วังไกลกังวล ซึ่งได้ทรงมีรับสั่งสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ ความดังนี้...
นมัสการถาม : ขอท่านได้อธิบายเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ดังที่ท่านอาจารย์เสาร์ (พระครูวิเวกพุทธกิจ : เสาร์ กนฺตสีโล) สอนมา
ถวายวิสัชนา : โดยหลักที่พระอาจารย์เสาร์ได้สั่งสอนอบรมลูกศิษย์ลูกหามานั้น ยึดหลักการบริกรรมภาวนา พุทโธ และอานาปานสติ เป็นหลักปฏิบัติ
การบริกรรมภาวนา ให้จิตอยู่ ณ จุดเดียว คือ พุทโธ ซึ่งพุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาของจิต เมื่อจิตมาจดจ้องอยู่ที่คำว่า พุทโธ ให้พิจารณาตามองค์ฌาน 5
การนึกถึง พุทโธ เรียกว่า วิตก จิตอยู่กับ พุทโธ ไม่พรากจากไป เรียกว่า วิจาร หลังจากนี้ ปีติ และความสุขก็เกิดขึ้น เมื่อปีติและความสุขเกิดขึ้นแล้ว จิตของผู้ภาวนาย่อมดำเนินไปสู่ความสงบ เข้าไปสู่ อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ ลักษณะที่จิตเข้าสู่อัปปนาสมาธิ ภาวะจิตเป็นภาวะสงบนิ่ง สว่าง ไม่มีกิริยาแสดงอาการความรู้ ในขั้นนี้ เรียกว่า จิตอยู่ในสมถะ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านอาจารย์เสาร์ผู้เป็นอาจารย์สอนกรรมฐานในสายนี้ จึงได้เดินอุบายสอนให้ลูกศิษย์พิจารณากายคตาสติ เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยการพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น โดยน้อมนึกไปในลักษณะความเป็นของน่าเกลียด เป็นของโสโครก จนกระทั่งจิตมีความสงบลง รู้ยิ่งเห็นจริงตามที่ได้พิจารณา
เมื่อผู้ปฏิบัติได้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เห็นสิ่งปฏิกูล ในที่สุดได้เห็นจริงในสิ่งนั้นว่าเป็นของปฏิกูล โดยปราศจากเจตนาสัญญาแล้ว ก็เกิดนิมิตเห็นสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกจริง ๆ โดยปราศจากสัญญาเจตนาใด ๆ ทั้งสิ้น จึงได้ชื่อว่า เป็นผู้พิจารณาเห็นอสุภกรรมฐาน
เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาอสุภกรรมฐานจนชำนิชำนาญ จนรู้เห็นจริงในอสุภกรรมฐานนั้นแล้ว ในขั้นต่อไปท่านอาจารย์เสาร์ได้แนะนำให้พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นธาตุ 4 ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ จนกระทั่งเห็นเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ
เมื่อจิตรู้ว่าเป็นแต่เพียงสักแต่ว่าธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ จิตก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า ตามที่พูดกันว่า สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี มีแต่ความประชุมพร้อมของธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตก็ย่อมเกิดความคิดขึ้นมาได้ว่า ในตัวเรานี้ไม่มีอะไร เป็นอนัตตาทั้งสิ้น มีแต่ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น
ถ้าหากภูมิจิตของผู้ปฏิบัติจะมองเห็นแต่เพียงกายทั้งหมดนี้ เป็นแต่เพียงธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ รู้แต่เพียงว่า ธาตุ 4 และภูมิจิตของท่านอยู่แค่นั้น ก็มีความรู้แค่ขั้นสมถกรรมฐาน
และในขณะเดียวกันนั้น ถ้าภูมิจิตของผู้ปฏิบัติปฏิวัติความรู้ไปสู่พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ถ้าหากมี อนิจจสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่า ไม่เที่ยง ทุกข์สัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่า เป็นทุกข์ อนัตตสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่า ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ภูมิจิตของผู้ปฏิบัตินั้น ก็ก้าวเข้าสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา
...โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาจะสิ้นใจ ถ้าหากเราไม่ได้สร้างพื้นฐานลมหายใจ ทุกขเวทนาต่าง ๆ มักจะมารบกวน จะทำให้จิตไขว่คว้าหาที่พึ่ง ถ้าว่าเราไม่นึกถึงอะไรให้มั่นคงไว้สักอย่างหนึ่ง จิตก็จะไม่มีที่ยึด ก็จะไขว่คว้าไปต่าง ๆ บางทีก็อาจจะไปเกาะสิ่งที่เป็นอบายภูมิ เพราะจิตไม่มีที่พึ่งที่ระลึก จิตนั้นก็จะไปสู่อบายภูมิ เป็นสภาพที่ไม่มีความเจริญ
นิมิตจะเกิดขึ้นได้ในจิตสมาธิ คือ เมื่อผู้ภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ เมื่อจิตมีอาการเคลิ้ม ๆ ลงไป จิตสงบ สว่าง กระแสจิตส่งออกไปข้างนอก แล้วก็เกิดขึ้นมาในลักษณะต่าง ๆ และอีกอย่างหนึ่ง ในการพิจารณาอสุภกรรมฐาน หรือธาตุกรรมฐาน ในขั้นต้น ผู้ปฏิบัติอาศัยการน้อมนึกพิจารณา น้อมไปสู่ความเป็นอสุภกรรมฐาน ความไม่สวย ไม่งาม น่าเกลียด โสโครก ของร่างกาย น้อมไปสู่ความเป็นธาตุ 4 ด้วยความตั้งใจก็ดี เมื่อจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว จิตอยู่ในระดับอุปจารสมาธิ ก็จะเกิดนิมิตภายนอกขึ้นมา
เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาดูนิมิตภายนอกกาย นิมิตภายนอกกายจะย้อนกลับเข้ามาภายใน หมายถึงจิตนั้นน้อมเข้ามาในกาย แล้วจิตจะมารู้ถึงนิมิตในกาย ในขณะที่จิตรู้อยู่ภายในตัวนั้น จิตจะมีลักษณะตั้งอยู่ระหว่างกลางของกาย แล้วจิตจะไปรู้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งภายในกาย
นมัสการถาม : การพิจารณาความไม่สวย ไม่งามนี้ เป็นสมมุติบัญญัติไม่มีความหมาย หรือแล้วแต่จะคิด ใช่หรือไม่
ถวายวิสัชนา : แล้วแต่จะคิด ทุกสิ่งทุกอย่างก่อนที่จะเกิดความจริงขึ้นมา ต้องอาศัยความเป็นจริงที่ปรุงแต่งขึ้นมา เพื่ออบรมจิตของตัวเองให้มีความเห็นคล้อยตาม และเกิดความเชื่อถือว่าเป็นอย่างนั้น
ถ้าหากพิจารณาในปัจจุบันนี้ให้พิจารณาน้อมไปถึงอดีต หากร่างกายนี้แตกสลายไปแล้ว ผมก็ดี ขนก็ดี เล็บก็ดี หนังก็ดี ฟันก็ดี ล้วนแต่แตกสลายไป ให้น้อมไปพิจารณาเพื่อให้จิตเกิดความรู้ความจริง เห็นจริง แม้จะไม่เกิดความเห็นอย่างนั้น แม้จิตจะไม่น้อมเข้าไปสู่พระธรรมวินัยที่ถูกต้องดังกล่าวก็ตาม
นมัสการถาม : การทำบุญ ผลบุญจะได้อยู่ที่ไหน จะได้อยู่ที่จิตของเรา หรือจะได้อยู่ที่เราจะได้บุญ คนเราส่วนมากเวลาทำบุญคิดว่าจะได้ผลบุญอย่างนี้ แต่บางทีก็ฟังดูว่า ถ้าทำบุญทำทาน หรือทำอะไรมันก็ได้กุศล ผลมันก็อยู่ที่ใจ เลยทำให้ผลอยู่ที่จิตใจของเรา และก็เป็นการขัดเกลาจิตใจของเรา
ถวายวิสัชนา : การทำบุญ โดยความหมายที่แท้จริงก็เป็นอุบายฝึกฝนอบรมจิตของผู้กระทำนั้น ให้เป็นผู้ที่มีอารีอารอบแก่บุคคลอื่น และการทำบุญนั้นเพื่อกำจัดกิเลส เป็นการฝึกอบรมจิตใจให้มีวิชชากว้างขวาง อารีอารอบรู้จักเอื้อเฟื้อแก่มนุษย์และสัตว์ แต่สำหรับอุบายโดยตรง เพื่อเป็นการจูงใจผู้ที่จะหลงผิดได้ทำบุญ เพื่อผลบุญจะติดตัวไปเมื่อตายแล้ว จะได้เกิดเป็นมนุษย์บ้าง เทวดาบ้าง อันนี้ก็เป็นอุบายเท่านั้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
พระธรรมเทศนา หลวงพ่อพุธ ฐานิโย(เสียง) •ชุดที่ 1 จำนวน 43 ไฟล์ |
|
งานบำเพ็ญกุศล 100 วัน
|
|
|
|
พิธีพระราชทานเพลิงสรีระสังขาร |
|
|
คลิกที่หัวข้อเพื่อรับชมคลิปวิดีโอพระธรรมเทศนา/วิสัชนาพระธรรม
โดยหลวงพ่อพุธ ฐานิโย
เมื่อวันพุธที่ 20 ต.ค. 2525 ณ ห้องประชุมกรมการแพทย์ ชั้น 4 ตึกกรมการแพทย์
- ธรรมปฏิบัติ [หลวงพ่อพุธ ฐานิโย] 54:07 นาที
- สมาธิมีประโยชน์ต่อนักบริหารอย่างไร 1:09 นาที
- จิตและสมองเป็นตัวเดียวกันหรือไม่ 2:01 นาที
- จิต ใจ วิญญาณ ต่างกันหรือไม่ และอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกาย เจตสิกคืออะไร 5:50 นาที
- การปฏิบัติสมถกรรมฐานจะทำให้หยุดอยู่แค่นี้ไม่ไปสู่วิปัสสนาจริงหรือ 4:26 นาที
- มีผู้กล่าวว่าการนั่งสมาธิแบบลืมตา ทำให้เกิดปัญญา หลวงพ่อมีความเห็นอย่างไร 2:02 นาที
- การกำหนดรู้ที่ลมหายใจหมายความว่าอย่างไร กำหนดอย่างไร 3:57 นาที
- มีอาการง่วงนอนขณะทำสมาธิ แต่หลับไปในที่สุด จะปรับปรุงหรือป้องกันอย่างไร 1:07 นาที
- ในขณะที่นั่งสมาธิจิตมักจะเผลอไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ทำอย่างไรจึงจะไม่ทำให้จิตเป็นอย่างนั้น และทำสมาธิทุกครั้งจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องขึ้นพระกรรมฐาน(นาทีที่ 1:26)
- ทำสมาธิภาวนาทำอย่างไร จิตไม่ค่อยอยู่ในคำบริกรรมภาวนา มีทางแก้ไขอย่างไร 1:25 นาที
- ศีล 5 หรือศีลอื่นๆ เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติสมาธิมากน้อยอย่างไรหรือไม่ 0:41 นาที
- หากไม่รักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ได้ทุกวัน จะปฏิบัติสมาธิให้เกิด มหาสติได้หรือไม่ 0:51 นาที
- นิมิต 9:35 นาที
- สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา คำว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งคือ? 2:16 นาที
- ความรู้จะผุดขึ้นมาในขณะช่วงที่จิตว่าง คือ ว่างจากความอยากรู้อยากเห็น 0:20 นาที
- รู้ได้ด้วยตนเอง 0:42 นาที
- จะผิดไหมที่ไม่ได้ลาออกจากการขึ้นครูกรรมฐาน 0:37 นาที
- ทำไมพระพุทธเจ้าพระอรหันต์เมื่อนิพพานแล้วกระดูกกลายเป็นพระธาตุ 3:05 นาที
- ธาตุที่มีอยู่ปัจจุบันนี้จะทราบได้อย่างไรว่า เป็นพระธาตุจริงหรือพระธาตุปลอม 1:05 นาที
- ผีและวิญญาณมีจริง 3:25 นาที
- นรกสวรรค์มีจริงหรือไม่ 0:23 นาที
- คนที่ตายไปแล้วกลับมาเกิดได้จริงหรือ 1:54 นาที
- ตายเร็วหรือช้าเกี่ยวกับบุญกรรมหรือไม่ 1:18 นาที
- ทำไมทุกวันนี้ชาวพุทธพากันห่างเหินจากข้อปฏิบัติทำให้เกิดควาทุกข์ความเดือดร้อนกันไม่รู้จักจบจักสิ้น 3:05 นาที
- ทำอย่างไรจะดึงผู้ประพฤติผิดให้ทำตัวอยู่ในศีลในธรรม จะมีอุบายอย่างไร 0:54 นาที
- ที่กล่าวว่าคุณหมดกรรมแล้วหมายความว่าอย่างไร กรรมนี้หมายถึงกรรมเก่าหรือกรรมปัจจุบัน 2:01 นาที
- ผิดไหมที่เจ้าชายสิทธัตถะท่านได้สละบัลลังก์ละทิ้งลูกน้อย เพื่อแสวงหาและศึกษาหลักสัจธรรม 0:30 นาที
- พระพุทธเจ้าฉันมังสวิรัติหรือเปล่า 0:32 นาที
- เนวสัญญานาสัญญายตนะหมายถึงอะไร 5:31 นาที
- คลิปต้นฉบับเต็ม 2 ชม.
การทำสมาธิในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 2 แสดงธรรมที่หอประชุมใหญ่โรงพยาบาลสงฆ์ ๒๑ ส.ค. ๒๖ |
การละกิเลสด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา แสดงธรรมที่หอประชุมใหญ่โรงพยาบาลสงฆ์ ๑ ส.ค. ๒๕ |
|
♥ช่วงที่ ๑/๒ | ♥ช่วงที่ ๑/๒ | |
♥ช่วงที่ ๒/๒ | ♥ช่วงที่ ๒/๒ | |
ที่มา www.thai60.com 020862 |