ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม

ประวัติ ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม  


ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม“โตขึ้นอยากเป็นอะไร”  เป็นคำถามที่เด็กๆ เกือบทุกคนถูกถาม  ฉันเองก็เช่นกัน  เมื่อเจอคำถามนี้ฉันตอบอย่างหนักแน่นไม่มีความลังเลเลยว่า  “อยากเป็นครู”  เป็นคำตอบจากใจ  จากจิตใต้สำนึกลึกๆ อาจเป็นเพราะฉันอยู่ใกล้ชิดแวดล้อมด้วยครูดีๆ ที่เป็นต้นแบบให้ฉันหลายท่าน  ตั้งแต่คุณแม่  คุณอาสะใภ้  พี่สาว  แล้วก็ยังมีคุณปู่ซึ่งแม้ฉันจะเกิดไม่ทันท่าน  แต่ก็ได้ซึมซับจิตวิญญาณครูมาโดยสายเลือดก็ว่าได้

 ความรักในการ  “สอน”  แสดงออกทางพฤติกรรมตั้งแต่วัยเด็ก  ยังไม่ทันเข้าโรงเรียน  แต่ฉันชอบเล่นเป็นครู  จับเพื่อนๆ น้องๆ เป็นนักเรียนหมด  ตอนเรียนมัธยมอยู่ที่ ร.ร.สตรีวิทยา  ฉันก็ชอบสอน  ชอบติวเพื่อนในวิชาที่ฉันถนัดคือภาษาฝรั่งเศส  และคณิตศาสตร์  เรื่องติวนี่  ฉันมักจะเป็นฝ่ายขอติวเพื่อนด้วยความเป็นห่วงกลัวเพื่อนสอบตก  บางคนต้องตามไปขอติวถึงบ้านก็มี

เมื่อเรียนจบมัธยมปลาย  ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย  คณะแรกๆ ที่ฉันเลือกคือ  อักษรศาสตร์และครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เพราะจะนำทางฉันไปสู่วิชาชีพครูได้ตรงที่สุด  หลังจากเรียนจบอักษรศาสตร์บัณฑิต  ฉันไปสอบบรรจุครูที่กระทรวงศึกษาธิการแห่งเดียว  ไม่สนใจไปสมัครที่หน่วยงานอื่นๆ ไว้เป็นทางเลือกสำรอง  ตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่าถ้าปีนี้ไม่ได้รับการบรรจุ  ปีหน้าจะมาสอบใหม่  แต่โชคดีที่ฉันได้รับการบรรจุเป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศส  ที่        ร.ร.วัดมกุฏกษัตริย์  ฉันมีความสุขมากที่ได้เป็นครู  ตั้งใจสอน  พยายามหาวิธีการสอนที่จะทำให้เด็กเรียนเก่ง  ใครเรียนอ่อนก็สอนพิเศษให้ตอนเย็นเกือบทุกวัน  ตรวจการบ้านและแก้ไขงานเด็กอย่างเข้มงวด

ต่อมาการสอนภาษาฝรั่งเศสปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบ  audivisuel  ครูต้องเข้ารับการอบรมการสอนแบบใหม่  อบรมแล้วจะมีการสอบและคัดเลือกผู้ที่ได้รับคะแนน 20 อันดับแรก  ไปฝึกอบรมที่ประเทศฝรั่งเศส  ฉันกลัวการไปต่างประเทศมาก  และปฏิเสธโอกาสที่จะสอบชิงทุนแบบนี้ไปหลายครั้ง  แต่ครั้งนี้ฉันตั้งใจทำข้อสอบมาก  ไม่ใช่เพราะอยากไปเมืองนอก  แต่อยากประเมินตัวเองว่ามีความสามารถพอที่จะสอนแนวใหม่นี้หรือไม่  ผลปรากฏว่าฉันสอบได้ที่ 1  จำใจต้องไปฝึกอบรมที่ฝรั่งเศสตามเงื่อนไข  อีก 2 ปีต่อมาไปสอบชิงทุนอีกครั้งเพื่อกลับมาเป็นศึกษานิเทศก์วิชาภาษาฝรั่งเศส  ก็สอบได้อีก  เป็นศึกษานิเทศก์ได้ 3 ปี  ก็สอบชิงทุนไปทำปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศส  จบปริญญาเอกสาขาภาษาศาสตร์และการสอนภาษาต่างประเทศ  จากมหาวิทยาลัย Grenoble III  ด้วยคะแนนเกียรตินิยมดีเยี่ยม

การได้รับทุนทุกครั้งต้องทำงานใช้ทุน 2 เท่า  ฉันไม่เคยคิดว่าเป็นการทำงานใช้หนี้  แต่ฉันทำงานเพราะฉันรักงานนี้  คุณแม่เคยแนะนำด้วยความสงสารว่าเป็นครูลำบาก  เงินเดือนน้อย  ใช้ทุนแล้วไปทำงานบริษัทซึ่งเงินเดือนมากกว่าดีไหม  ฉันตอบไปว่า  ฉันทำงานแบบได้เงินเยอะแต่ไม่ได้บุญไม่เป็น    เคยมีหลายหน่วยงานทั้งมหาวิทยาลัยหลายแห่ง  และองค์กรระหว่างประเทศ  มาลองใจฉันอยู่หลายครั้ง  ด้วยการชักชวนไปทำงานด้วย  เพราะเห็นว่าฉันจบปริญญาเอกในสาขาที่มีคนจบมาน้อย และฉันจบมาด้วยคะแนนสูงมาก  แต่ฉันตอบปฏิเสธไปโดยไม่ลังเลทุกครั้ง  ที่จริงการเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยก็ยังอยู่ในแวดวงครูอยู่  แต่ฉันรู้สึกว่าการศึกษาบ้านเรา  ยิ่งระดับสูงยิ่งมุ่งความเป็นเลิศทางวิชาการ  แล้วมีพื้นที่ให้คุณธรรมน้อยลงทุกที  ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่หลงทิศทาง  ฉันจึงเลือกเป็นศึกษานิเทศก์ที่ดูแลการศึกษาระดับมัธยมศึกษาต่อไป

ชีวิตการเป็นศึกษานิเทศก์  เปิดโอกาสให้ฉันได้บุญมากขึ้น  เมื่อได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานปลูกฝังคุณธรรมควบคู่กับการนิเทศการสอนภาษาฝรั่งเศส  เพราะหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์  เห็นว่าฉันชอบปฏิบัติธรรม  ฉันมีประสบการณ์การทำสมาธิภาวนามาหลายปี  เพราะมีความทุกข์และเลือกที่จะแก้ทุกข์ที่จิตด้วยการปฏิบัติจิตตามแนวทางพระธุดงคกรรมฐานสายพระป่า  และได้พบว่ากระบวนการพัฒนาจิตโดยหลักไตรสิกขา (ศีล  สมาธิ  ปัญญา)  ตามแนวทางของพระพุทธเจ้ามีประสิทธิภาพที่สุด  สามารถแก้ปัญหาพฤติกรรมได้ตรงจุด  คือแก้ที่จิตซึ่งเป็นผู้สั่งกาย  เมื่อ   จิตดี  กาย  วาจา  ก็ดี


ภาระงานเริ่มหนักขึ้นเมื่อต้องรับผิดชอบงานสร้างคนเก่ง  (นิเทศการสอนตามนโยบายของกรมสามัญศึกษาและวิชาภาษาฝรั่งเศส)   และสร้างคนดี (จัดอบรมพัฒนาจิต ครู-นักเรียน  ที่วัดวะภูแก้ว  ตามคำขอของโรงเรียน)  จริงๆ แล้ว  กรมฯ ก็มีนโยบายปลูกฝังคุณธรรมครู-นักเรียน  ชัดเจนมากอยู่แล้ว  โดยอิงทฤษฏีของนักจิตวิทยาฝรั่งเป็นหลัก  แต่ครูที่ผ่านการอบรมพัฒนาจิตหรือนำนักเรียนมาเข้ารับการอบรม  มีความเชื่อมั่นและศรัทธาทฤษฏีของพุทธศาสนามากกว่า  เพราะเห็นผลชัดเจนว่าสามารถเปลี่ยนจิตสำนึกและพฤติกรรมได้เร็วและยั่งยืนกว่า

เมื่อโรงเรียนเรียกร้องให้จัดอบรมพัฒนาจิตมากขึ้น  ฉันจึงต้องวิ่งรอกทำงานสลับกันระหว่างวัด, หน่วยงาน, โรงเรียน  จนแทบไม่มีวันหยุด  เคยทำงานต่อเนื่องถึง 60 วัน  จนบางครั้งล้มป่วย  ในที่สุดฉันต้องตัดสินใจเลือกทางเดียวเพื่อให้ทำงานได้ดีที่สุด  ถ้าจะเหยียบเรืองสองแคม  อาจบกพร่องทั้งสองทางก็ได้
ฉันตัดสินใจโดยไม่ลังเลอีกครั้งคือ ขอเลือก “การสร้างคนดี”  เพราะเห็นว่าคนเก่งสร้างไม่ยาก  และคนเก่งก็มีมากในสังคมนี้  ฉันจึงขอลาออกจากราชการก่อนอายุครบเกษียณถึง 10 ปี เพื่อรับผิดชอบโครงการอบรมพัฒนาจิต  ที่ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ  วัดวะภูแก้ว  แห่งเดียว

เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพที่สุด  ฉันจึงต้องพัฒนาตัวเอง  พัฒนาคณะทำงาน  พัฒนาเนื้อหาหลักสูตรการอบรม (โดยบูรณาการประสบการณ์การปฏิบัติจิตและจิตวิทยาการเรียนรู้ที่เก็บเกี่ยวตอนเป็นศึกษานิเทศก์  เข้าด้วยกัน)   อย่างต่อเนื่อง

หลายคนเสียดายความรู้ทางโลกที่ฉันร่ำเรียนมามากมาย  แล้วมาเลือกทางธรรม  แต่ฉันไม่เสียดายเลยเพราะฉันไม่ได้ทิ้งโลก  ฉันใช้ธรรมทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น  ฉันลาออกจากราชการ  แต่ฉันไม่ได้ลาออกจากความเป็นครู  เพียงแต่ฉันเลือกเป็นครูสอนวิชาความดี  ซึ่งฉันเห็นว่าทำให้ฉันเป็นครูที่สมบูรณ์แบบขึ้น  เวลาเกือบ 30 ปีที่ฉันตั้งใจทำงานนี้  ได้อบรมทั้ง  ครู  นักเรียน  ข้าราชการ  ตำรวจ  บุคลากรด้านสาธารณสุข  ผู้ต้องขัง ฯลฯ  ไปกว่า 300,000 คน  ผู้ที่ผ่านการอบรมส่วนใหญ่ให้ข้อมูลป้อนกลับมาว่า  สมาธิทำให้เขาเรียนเก่งขึ้น  จากเด็กที่ไม่เห็นอนาคตกลับกลายเป็นคุณหมอ  วิศวกร  นายทหาร  ตำรวจ ฯลฯ  จากคนที่ทำงานไปวันๆ ไม่ศรัทธาในวิชาชีพของตัวเอง  ก็ตั้งใจทำงานด้วย  “ใจ”  โดยเฉพาะงานบริการสาธารณสุขและชุมชน,  งานด้านการศึกษา  วัยรุ่นและผู้ต้องขังที่เดินทางผิด  จมอยู่ก้นหลุมดำ  ก็เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์  หันหลังให้กับสิ่งผิด  สร้างคุณค่าให้กับชีวิตของตนเอง

ทางสายนี้เป็นทางที่ฉันเลือก  เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน  ตอบแทนคุณโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่หล่อหลอมทุกความดี  และความเก่งให้กับฉัน 

ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

ที่มา: สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์


ธรรมบรรยายโดย ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม

ติดตามชม วิดีโอการบรรยายของ ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม 
Facebook Page ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้วเพจศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว
youtube ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดมยูทูป ชื่อช่อง wapukaew

ครูเกยูร กับ รต. มุข เด่นอุดมแม่และป๋าของ อ.ดาราวรรณ เองค่ะ (ครูเกยูร กับ รต. มุข เด่นอุดม)


 

 

คําประกาศเกียรติคุณ
นางสาวดาราวรรณ เด่นอุดม
ครูภูมิปัญญาไทย ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี

          ครูดาราวรรณ เด่นอุดม เกิดเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ที่กรุงเทพมหานคร สนใจ ฝึกสมาธิภาวนาตามหลักพระพุทธศาสนา เนื่องจากอ่านหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิภาวนาแบบเซ็น คือ เรื่องกุญแจเซ็น และปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ เกิดความประทับใจว่าการฝึกสมาธิและการอยู่อย่างมีสติสามารถทําให้พ้นทุกข์ได้ จึงศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังจากพระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) และพระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) ค้นพบองค์ความรู้เกี่ยวกับความสําคัญของจิต หลักการฝึกจิตและผลของการฝึกจิต แล้วนํามาเผยแผ่โดยการพิมพ์และแปลหนังสือธรรมะของครูบาอาจารย์ และถ่ายทอดความรู้โดยการอบรมให้แก่ครู-อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ ทหาร ตํารวจ และประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นแนวทางแก้ปัญหาสังคมไทย ให้พ้นภัยวิกฤติด้านต่างๆ ที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน

          การที่ ครูดาราวรรณ เด่นอุดม นําความรู้ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณีที่ตนเองศึกษา ค้นคว้า ค้นพบ ทดลองจนประสบผลสําเร็จแล้วไปเผยแพร่โดยการสอนและถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้เรียนรู้ แล้วนําไปปฏิบัติ เป็นประโยชน์โดยรวมแก่สังคม จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สํานักนายกรัฐมนตรี ให้เป็นครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ ๒ ด้าน ปรัชญา ศาสนา และประเพณี ประจําปีพุทธศักราช ๒๕๔๕

นางสาวดาราวรรณ เด่นอุดม
ครูภูมิปัญญาไทย ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี


          ครูดาราวรรณ เด่นอุดม จากจังหวัดนครราชสีมา เป็นแกนนําในการฝึกสมาธิและฝึกการอยู่อย่างมีสติ ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ได้ค้นพบความสําคัญของจิตว่าทําให้พ้นทุกข์ จึงได้ศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติเพิ่มเติม และได้นําหลักการฝึกจิตและผลของการฝึกจิตมาถ่ายทอด โดยเขียนเป็นตําราและจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งจัดอบรมให้ความรู้แก่ครูอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา พ่อค้า ประชาชน และข้าราชการทั่วไป ได้เรียนรู้และนําไปปฏิบัติ ส่งผลให้คนในสังคมและชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

การศึกษา ชีวิตและการทํางาน
          ครูดาราวรรณ ถือกําเนิดในครอบครัวที่นับถือศาสนาอิสลาม ประพฤติ ปฏิบัติตามหลักของศาสนาอย่างเคร่งครัด เป็นครอบครัวที่อบอุ่น มีบิดามารดาเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องความซื่อสัตย์และความขยันหมั่นเพียร มีคุณปู่เป็นผู้นําศาสนาอิสลาม (อิหม่าม) อุปนิสัยส่วนตัวชอบความสงบ ชอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะการสวดมนต์ภาวนา ทางบ้านได้ส่งให้เรียนในโรงเรียนศาสนาในระดับชั้นประถมศึกษาและเรียนพิเศษด้านศาสนาตอนเย็นหลังเลิกเรียน จึงมีความรู้ศาสนาอิสลามแตกฉาน ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนโรงเรียนเข้าแข่งขันตอบปัญหาและปาฐกถาธรรมทางศาสนาได้รางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศหลายรางวัล
          แม้จะมีความรู้และศรัทธาในศาสนาอิสลาม แต่ก็เก็บความสงสัยในคําสอนหลายเรื่องที่หาเหตุผลไม่ได้และไม่สามารถถามผู้รู้ได้ เนื่องจากเป็นข้อห้ามของศาสนา ต่อมาได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิภาวนาแบบเซ็นอยู่ ๒ เล่ม คือเรื่องกุญแจเซ็น และปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอของท่านติช นัท ฮันท์ พระภิกษุชาวเวียดนาม แล้วเกิดความประทับใจว่า การปฏิบัติสมาธิและการอยู่อย่างมีสติสามารถทําให้พ้นทุกข์ เมื่อศึกษาและปฏิบัติแล้วพบว่าถูกกับอุปนิสัย จึงมีความเลื่อมใสศรัทธาที่พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีเหตุผลและเน้นสอนให้เราพึ่งพาตนเองและเชื่อหลักกรรม
         ครูดาราวรรณได้เริ่มการศึกษาและปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๒๓โดยเริ่มจากการปฏิบัติจิตภาวนา ได้ฝึกฝนกับ อุบาสิกาสะอาด เกษมสันต์ ที่วัดน้อยนพคุณ กรุงเทพฯ จากนั้นเมื่อย้ายมารับตําแหน่งศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา ๑๑ ที่จังหวัดนครราชสีมา ได้เข้าอบรมกรรมฐานกับคุณแม่สิริ กรินไชย ๒ ครั้งๆ ละ ๗ วัน 
         ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๖ ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ โดยไปรายงานผลการปฏิบัติ และซักถามปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ แนวทางที่หลวงปู่อบรมให้เน้นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการตามดูจิต ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกจริตมากที่สุด ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ก่อนหลวงปู่มรณภาพประมาณ ๒ เดือน ท่านสั่งให้ไปสอนผู้อื่นเพราะจิตชำนาญแล้ว นอกจากการสอนอบรมแล้วยังได้แปลธรรมะของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล เรื่อง “จิตคือพุทธะ” เป็นภาษาอังกฤษเผยแพร่ให้นักปฏิบัติต่างชาติ โคยได้พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗
         ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๓ - ๒๕๔๒ ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างใกล้ชิดกับพระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งท่านได้ให้คําสอนทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติอย่างละเอียดมาก ได้รับการไว้วางใจให้จัดทําหนังสือธรรมะเผยแพร่มาตลอด ปีละ ๑-๒ ครั้งๆ ละ ๑๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ เล่ม ได้แก่ ธรรมวิสัชนา หลวงพ่อสอนธรรม ฐานิยปูชา มอบธรรม นำพร เป็นต้น

การศึกษาจิต : องค์ความรู้แห่งการดับทุกข์
         สิ่งที่ครูดาราวรรณ ได้ค้นพบความจริงแห่งการดับทุกข์ คือ “จิต” ซึ่งเป็นพลังงานแฝงอยู่ในกาย มีหน้าที่สั่งกาย และบันทึกผลงาน การทํา พูด คิด ไว้เป็นประจุกรรม (พลังกุศลกรรม และอกุศลกรรม) ซึ่งเป็นข้อมูลหรือหน่วยความจําที่มีปริมาณมหาศาล จิตเป็นอมตธาตุ เป็นธาตุที่ไม่ตาย เมื่อกายตาย จิตจะทิ้งกายไปหาที่อยู่ใหม่ (ภพภูมิ) ตามพลังขับเคลื่อนของจิตว่าจะไปทางฝ่ายกุศลหรืออกุศล การฝึกจิตหรือการทำสมาธิภาวนาคือการทําจิตให้มีสิ่งรู้ ทําสติให้มีสิ่งระลึก ครูดาราวรรณได้ศึกษาและปฏิบัติตามหลวงพ่อ พุธ ฐานิโย ซึ่งแยกสมาธิเป็น ๒ แบบ คือ
         ๑. สมาธิในวิธีการ หมายถึง การปฏิบัติสมาธิที่มีรูปแบบ เช่น การนั่งกําหนดลมหายใจบริกรรมภาวนา การเดินจงกรม เป็นต้น ซึ่งเป็นการปฏิบัติอยู่วงจํากัด เช่น ในวัด หรือสถานที่สงบเงียบ เมื่อมีเวลาเป็นส่วนตัว
         ๒. สมาธิในชีวิตประจําวัน หรือ สมาธิสาธารณะ เป็นการปฏิบัติสมาธิในชีวิตประจําวันด้วยการกําหนดสติอยู่กับปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทํา พูด คิด ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ทําได้ทุกสถานการณ์ ทุกกาลเวลา และทุกสานที่ เมื่อฝึกจิตได้แล้ว จิตจะมีพลังสติสัมปชัญญะมาก จะก่อให้เกิดปัญญาในระดับต่างๆ กล่าวคือ

            • ปัญญาระดับสูง การรู้เท่าทันกิเลส ตัณหา อุปาทาน จนสามารถตัดอาสวกิเลสได้
            • ปัญญาระดับกลาง การรู้เท่าทันจิต มีภูมิต้านทานต่อสิ่งยั่วยุ และสิ่งกระทบต่างๆ (จากภายในหรือภายนอกก็ตาม)
            • ปัญญาระดับต้น เป็นความชาญฉลาดทางสติปัญญาที่ใช้ในการเรียน และการงานต่างๆ ทําให้ประสบผลสําเร็จสูง มีความผิดพลาดน้อย

การถ่ายทอดองค์ความรู้
           การกําหนดหลักสูตรเนื้อหา ระยะเวลา และวิธีการอบรมนั้นหลากหลาย ขึ้นอยู่กับ วัย วุฒิภาวะ หน้าที่การงานของผู้รับการอบรม ได้แก่
           • หลักสูตรสําหรับระคับประถมศึกษา ๓ วัน
           • หลักสูตรสําหรับระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ๕ วัน
           • หลักสูตรสําหรับครูและข้าราชการทั่วไป ๕ - ๗ วัน

           วิธีการอบรม : ให้ความรู้ด้านทฤษฎี และฝึกฝนภาคปฏิบัติ
           ๑. ภาคทฤษฎี มี ๒ ระยะ คือ
               - สร้างเเรงจูงใจ : บรรยายให้เห็นประโยชน์และความสัมพันของการฝึกจิตกับชีวิตประจําวันเพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความกระตือรีอร้นและมีแรงจูงใจในการปฏิบัติ
               - ให้ธรรมะ : เมื่อผู้รับการอบรมตั้งใจปฏิบัติ จะรับธรรมะได้ง่ายมากขึ้น ธรรมะที่ให้ในขั้นนี้ได้แก่ วัยรุ่นคุณธรรม ครูดี(ตํารวจ)ต้องมีคุณธรรม กฎแห่งกรรม ตายแล้วไปไหน พิษภัยของยาเสพติด พระคุณอันยิ่งใหญ่ ฯลฯ
           ๒. ภาคปฏิบัติ : ฝึกสติ สมาธิในการงานต่าง ๆ ได้แก่
               - การเดินจงกรม  - การนั่งสมาธิ
               - การฟังบรรยาย  - การอ่านหนังสือ
               - การสวดมนต์     - การบริหารกายประกอบสติ ฯลฯ

          การถ่ายโอนประสบการณ์
          เมื่อผู้เข้ารับการอบรมเกิดปัญญาสัมมาทิฏฐิ มีสํานึกผิดชอบชั่วดี ให้ตั้งปณิธานที่จะละเลิกสิ่งผิด และเพิ่มพูนความดี ด้วยการทํากิจกรรม “สัญญาใจ" (สําหรับนักเรียนและนักศึกษา) “อุดมการณ์ตํารวจไทย" (สําหรับข้าราชการตํารวจ) เพื่อมอบให้พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครู ผู้บังคับบัญชา โดยผู้อบรมมีเอกสารแนะนําผู้เกี่ยวข้องข้างต้น ให้ติดตามพฤติกรรมของผู้เข้ารับการอบรมตาม “สัญญาใจ” หรือ “อุดมการณ์" ที่ให้ไว้ โดยการให้กําลังใจ ให้โอกาส จนผู้เข้าอบรมสามารถปฏิบัติตนตามปณิธานที่ตั้งไว้ได้สําเร็จ
          ผู้รับการถ่ายทอด
          ๑. คณะวิทยากรอบรมพัฒนาจิต ซึ่งเป็นครูสังกัดกรมสามัญศึกษา สํานักงานการประถมศึกษา สํานักงานศึกษาธิการอําเภอและสังกัดอื่นๆ
          ๒. ผู้เข้าอบรมพัฒนาจิต ได้แก่ ข้าราชการครูสังกัดกรมสามัญศึกษา สํานักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กรมการศึกษานอกโรงเรียน กรมอาชีวศึกษา ทั้งครูผู้ปฏิบัติการสอน ผู้บริหารโรงเรียน หัวหน้าการประถมศึกษาอําเภอ ศึกษาธิการอําเภอ เจ้าหน้าที่ทั่วไป ข้าราชการทหาร ตํารวจ นักเรียน นักศึกษา
         ๓. ผู้ฟังบรรยาย ได้แก่ พระภิกษุ สามเณร ข้าราชการครู ทหาร ตํารวจ นักเรียนนายร้อย ๔ เหล่าทัพ สาธารณสุข นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป
         การที่ ครูดาราวรรณ เด่นอุคม เป็นบุคคลผู้ทรงภูมิปัญญาด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี เป็นผู้สร้างสรรค์และสืบสานภูมิปัญญาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ยอมรับของสังคมและชุมชน จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จากสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สํานักนายกรัฐมนตรี ให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย เพื่อทําหน้าที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาในการจัดการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ตามนัยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๒

         ครูดาราวรรณ เด่นอุดม อายุ ๕๑ ปี เกิดเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ที่ กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ ร.ต.มุขและนางเกยูร เด่นอุดม สถานภาพโสด ที่อยู่ปัจจุบันบ้านเลขที่ ๒๕๖ ถนนมิตรภาพ ซอย ๑๕ ตําบลในเมือง อําเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ๓๐๐๐๐ โทรศัพท์ หมายเลข

การศึกษา
             • ประถมศึกษาปีที่ ๑-๓ โรงเรียนปวิธศึกษา กรุงเทพฯ
             • ประถมศึกษาปีที่ ๔-๗ โรงเรียนสหบํารุงวิทยา กรุงเทพฯ
             • มัธยมศึกษาปีที่ ๑-๕ โรงเรียนสตรีวิทยา กรุงเทพฯ
             • ปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (๒๕๑๒ - ๒๕๑๕)
             • ปริญญาโท อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (๒๕๑๖ - ๒๕๒๑)
             • ปริญญาเอก Ph.D ภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย Grenoble ประเทศฝรั่งเศส (๒๕๒๖ - ๒๕๒๙)

เกียรติคุณที่ได้รับ
            • พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รับรางวัล “เสมาธรรมจักร” ผู้ทําคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา สาขาส่งเสริมผู้ปฏิบัติธรรม จาก กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
            • พ.ศ. ๒๕๔๕ ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๒ ด้าน ปรัชญา ศาสนา และประเพณี จาก สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สํานักนายกรัฐมนตรี


ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม คลิก



กรุณางดแชร์ประวัติ ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม ที่คลาดเคลื่อนจากความจริง
 
ประวัติ ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม

          ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม    เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธเมื่ออายุ 29 ปี เพราะมีทุกข์และชอบใจแนวทางแก้ทุกข์ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า  ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับพ่อแม่ครูอาจารย์สายพระป่า  เช่น หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่เทสก์ หลวงตามหาบัว หลวงพ่อพุธ   โดยท่านไว้วางใจสั่งเสียและสนับสนุนให้ทำงานรับใช้พระศาสนา   จึงตัดสินใจลาออกจากราชการมาปฏิบัติธรรมและทำงานเผยแผ่มากว่า 30 ปี เชิญฟังบทสัมภาษณ์ที่จะทำให้ท่านได้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับธรรมะ คลิกที่นี่

 


ทำไมเปลี่ยนศาสนา ยืนยันไม่เคยลบฆลู่ศาสนาเดิม
คลิปตอบ comment ยูทูป เรื่องทำไมเปลี่ยนศาสนาและขอยืนยันไม่เคยลบหลู่ศาสนาเดิม

 


 

"วิชาพระพุทธศาสนาก็เหมือนยา เรามียาดี แต่ขายไม่เป็น จึงน่าเสียดายหากเด็กไม่อยากเรียน" 


บทความ ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม

  • ถ้าหลวงตาสั่งให้หนูไปตาย หนูก็จะไปเดี๋ยวนี้เลยค่ะ เพราะหลวงตาเป็นผู้ให้ชีวิตใหม่แก่หนู หากหลวงตาไม่ช่วยหนูไว้ หนูก็คงตายไปตั้งแต่วันที่ ๑๙ มกราคมแล้ว ตอนนี้หนูก็ได้กำไรมา ๑ เดือนแล้วค่ะ”

    ข้าพเจ้าลั่นวาจาก้องกังวานถวายชีวิตแด่องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน พระผู้เป็นยิ่งกว่า “พ่อแม่ครูอาจารย์” สำหรับข้าพเจ้า ในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ เมื่อได้รับโอกาสให้ไปกราบท่านที่กุฏิ เพื่อขอบพระคุณที่ท่านได้ช่วยชีวิตไว้ และกราบเรียนรายละเอียดเกี่ยวกับอาการป่วย เนื่องจากท่านปิ๋วและผู้กำกับกฤษฎาแจ้งมาว่า ถ้าอาการทุเลาพอเดินทางไหว อยากให้มากราบเรียนรายละเอียดต่อองค์หลวงตาเอง เพราะระหว่างที่ข้าพเจ้าป่วยหนักอยู่นั้น เมื่อท่านทราบข่าวจากท่านปิ๋ว ท่านเมตตาช่วยอยู่ตลอดเวลา และ ถามอาการจากท่านปิ๋วบ้าง ท่านผู้กำกับบ้าง วันละหลาย ๆครั้งว่า “อาการเป็นอย่างไร” ทั้งสองท่านก็ให้ข้อมูลได้ไม่มากนัก เพราะในช่วยนั้นข้าพเจ้าก็พูดได้น้อยมาก เพราะไม่มีแรงแม้กระทั่งจะเปล่งเสียงออกมา (คลิกที่ภาพเพื่อดาวน์โหลดบทความ/ฟังเสียงอ่าน)

  • บารมีพระศาสนา
    ชีวิตของข้าพเจ้ารอดพ้นความตายมาได้อย่างเหลือเชื่อก็เพราะบารมีของพระพุทธศาสนา เมื่อองค์หลวงตามหาบัวได้เมตตาต่อชีวิตให้ ด้วยเหตุผลว่า “คนๆ นี้เขาเป็นกำลังหลักของพระศาสนา” ( อ่านรายละเอียดได้จาก “หลวงตา...วัดป่าบ้านตาด ๑ฯ” หน้า ๔๒๓ “ความอัศจรรย์มีจริง” )

    คำพูดของหลวงตาข้างต้นนี้ ข้าพเจ้าไม่ได้ได้ยินกับหูของตัวเอง เพราะช่วงนั้นหมดสติและอาการอยู่ในขั้นโคม่า ท่านปิ๋วได้เล่าให้ฟังในภายหลัง ต่อมาจึงได้ยินด้วยตัวเองที่สวนแสงธรรมในคืนหนึ่ง หลังจากฟังเทศน์เสร็จ ผู้คนกลับเกือบหมดแล้ว เหลือแต่ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดเพียง ๗-๘ คน ข้าพเจ้าจึงเข้าไปกราบเรียนท่านว่าจะกลับโคราชแล้ว ท่านชี้มาที่ข้าพเจ้า แล้วพูดกับลูกศิษย์คนอื่นๆ ว่า “คนนี้เขาเป็นกำลังสำคัญของพระศาสนานะ สำคัญมากด้วย เป็นด็อกเตอร์ด้วย แล้วยังมาช่วยงานพระศาสนา” (คลิกที่ภาพเพื่ออ่านต่อ...)

  • (คลิกเพื่อดาวน์โหลดบทความและไฟล์เสียงอ่าน)
    ในระยะหลังมานี้ ผมเดินทางไปมากรุงเทพฯ อุดรธานี อาทิตย์ละ ๑ ครั้ง หรือบางอาทิตย์ก็ถึง ๒ ครั้ง เนื่องจากจะต้องติดต่อประสานงานกับคนหลายคน ในเรื่องที่เห็นว่าจะต้องได้รับการดูแล ผมชอบเดินทางโดยรถยนต์ เพราะสะดวกในการแวะตามทางตามใจชอบ ผู้ร่วมเดินทางในแต่ละครั้งมีจำนวนมากน้อย ขึ้นอยู่กับความสามารถในการขออนุญาตผู้ปกครองที่บ้าน ส่วนมากก็จะเป็นขาประจำ ๒-๓ คน ที่ล้วนอยู่ในวัยดึกด้วยกัน และเป็นเพื่อนเดินทางร่วมกันมาเป็นเวลานานกว่า ๒๐ ปีแล้วทั้งนั้น
    พวกเราจะแวะตลอดเส้นทาง ทั้งขาไปและกลับ หากาแฟดื่ม หาข้าวเช้ากินที่ปั๊มน้ำมันขาประจำที่โคราช กลางวันก็อิ่มท้องด้วยไก่ย่าง ส้มตำ ไส้กรอกอีสาน ซึ่งถือเป็นอาหารประจำคณะ ตกดึกก็จะหาโอกาสไปเสาะหาข้าวต้มกินกัน ในอุดรธานีมีหลายร้าน ล้วนขายดิบขายดีเป็นล่ำเป็นสันร่ำรวยไปตามๆ กัน
    สิ่งหนึ่งที่ได้พบได้เห็นเป็นประจำกันเกือบทุกครั้งที่ได้แวะเวียนเข้าไปก็คือเด็กสาวๆ อายุน้อยๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัย ๑๘-๒๔ ปี ทำหน้าที่เชียร์เบียร์ ซึ่งมีหลากหลายยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อก็ล้วนนำสัตว์คึกคะนอง จำพวกเสือสิงห์กระทิงแรด ช้างม้าวัวควาย มาเป็นเครื่องหมายการค้า ให้ผู้ต้องการดื่มได้จินตนาการ ถึงพลังที่แต่ละยี่ห้อจะสามารถสร้างความฮึกเหิมได้ บรรดาเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์นี้มักจะให้สาววัยละอ่อนมาเป็นพนักงานประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมชักชวนชี้แนะให้ดื่ม สาวเชียร์เบียร์พวกนี้จะแต่งกายประจำยี่ห้อของตัว ด้วยเครื่องแบบล่อเสือล่อจระเข้ที่เล็กเกินมาตรฐาน ท่อนบนรัดรูปรัดทรง ท่อนล่างสั้นเต่อจนเหมือนนุ่งกางเกงใน พันด้วยผ้าแคบที่สุด
    ตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม ที่จังหวัดอุดรธานีถูกใช้เป็นฐานทัพของกองทัพอเมริกัน อุดรฯ ก็เปลี่ยนไปแบบถอดรูปเพียงชั่วข้ามคืน กลายเป็นจังหวัดที่มีหลากหลายองค์ประกอบ ในยุคนั้นมีฝรั่งผิวขาวผิวดำเดินกันเต็มบ้านเต็มเมือง ล้วนแต่มีหน้าที่เสี่ยงตายออกไปรบไปทำสงครามที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรา พอรอดตายกลับมาก็มาฉลองกันให้มึนเมา เพื่อลบล้างบาดแผลใจจากสนามรบ ให้ได้ปลดปล่อยจากความทุกข์ทั้งหลายชั่วขณะ โดยการจมอยู่ในอบายมุขที่แสนหอมหวาน ชีวิตแต่ละวันไม่มีอนาคต
    โอกาสนี้เป็นโอกาสทองของผู้คนในจังหวัด ต่างรีบฉวยโอกาสลงทุนทำธุรกิจอย่างเต็มไม้เต็มมือ สาวๆ ที่มีผิวคมขำออกน้ำตาลไหม้ก็ยึดอาชีพเป็นแม่บ้านของนายฝรั่ง บ้างก็ยอมตัวเป็นมาดามชั่วคราว สร้างเนื้อสร้างตัวได้ดิบได้ดีไปอยู่เมืองนอกเมืองนาเป็นมาดามถาวรกันก็มาก ฐานะความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของคนอุดรฯ ดีขึ้นอย่างรวดเร็วทันตาเห็น เงินทองสะพัดไปทั้งจังหวัด ผู้ที่มีฐานะร่ำรวยขึ้นในชุมชน ในหมู่บ้าน ต่างก็ได้รับการยกย่องนับหน้าถือตา เป็นตัวอย่างของสังคมเล็กๆ ที่ยึดการยอมตัวเป็นแฟนฝรั่ง เพื่อนำความ ร่ำรวยในชั่วพริบตาให้พ่อให้แม่ โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมวัฒนธรรม หมดแล้วยุคแห่งความแข็งแกร่งอดทนต่อความยากลำบากในการทำงานหาเลี้ยงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีในตัวเอง
    เมื่อสงครามเวียดนามยุติลง ชีวิตคนเมืองอุดรฯ ก็เงียบเหงาตามไปด้วย ทำมาหากินอะไรก็ไม่สะดวก เงินก็ไม่คล่องมือเหมือนเดิม เด็กสาวที่ข้ามขั้นชีวิตต้องระหกระเหินย้ายถิ่นข้ามจังหวัดไปตามแสงสีเสียง หวังไปตายเอาดาบหน้า ธุรกิจบันเทิงอันเป็นแหล่งอบายมุข ยั่วยุกิเลสตัณหา ไม่ว่าอะไรที่พอจะทำเงินได้ ต้องรีบคว้ารีบทำไว้ก่อน ไม่ต้องไปคำนึงถึงเรื่องศีลธรรมหรือแม้แต่วัฒนธรรมอันดีงาม ไม่สนใจเรื่องบุญเรื่องบาป การรักนวลสงวนตัวที่ปู่ย่าตายายพร่ำสอน ของมีอยู่กับตัวก็ต้องทำมาหากินก่อนที่ความเต่งตึงจะโรยร่วงไปตามวัย เด็กสาวหรือแม้แต่เด็กชายเหล่านี้ชีวิตวัยรุ่นขาดหายไป พวกเขาเหมือนตัวโน๊ตดนตรีที่คร่อมจังหวะข้ามจังหวะชีวิตไป ต่างห่างเหินจากธรรมและความละอายต่อบาป อำนาจเงินที่สามารถดลบันดาลความฟุ้งเฟ้อสุขสบายให้ได้อย่างที่คนรุ่นก่อนๆ ไม่เคยเอื้อมมือถึง ทำให้ครอบครัวของคนเหล่านั้นปิดหัวใจกับเรื่องของเกียรติภูมิ และเรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ผู้มีศีลธรรมเป็นพื้นฐาน จนลืมตัวลืมตายลืมกรรมกันจนหมดสิ้น
    ชีวิตของเด็กวัยรุ่นไทยในปัจจุบันก็อยู่ในวงจรเดียวกันนี้ โดยเฉพาะเด็กตามต่างจังหวัดที่ต้องดิ้นรนเพราะความยากแค้นลำเค็ญของพ่อแม่ผู้เอาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน วัยรุ่นไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กสาววัยอ่อน ที่ซึมซับและหลงระเริงไปตามวัฒนธรรมที่ใช้เงินเป็นใบเบิกทางต่างๆ ที่ระบาดเข้ามาราวกับโรคร้ายเข้ามาเกาะกุมหัวใจของพวกเขา ชักนำไปในทางเสื่อมเสีย เสียส่วนใหญ่ ทำลายทั้งตัวและอนาคตของเยาวชนไทย โดยเฉพาะเยาวชนตามจังหวัดใหญ่ๆ ทั้งหลายที่วัฒนธรรมโลดโผนถาโถมเข้ามาเหมือนกับลาวาจากภูเขาไฟที่ร้อนแรง เหมือนไฟบรรลัยกัลป์ที่หลั่งไหลไปทางใดก็เผาผลาญไปตลอดทางจนหมดสิ้น เหลือไว้แต่ซากแผ่นดินที่มอดไหม้หาความเจริญไม่ได้
    จากตลาดสดพื้นบ้านเล็กๆ กลางชุมชนตามละแวกบ้าน กลายมาเป็นตลาดสมัยใหม่ติดแอร์ในชื่อฝรั่ง กระจายครอบคลุมไปทุกหัวระแหง ขนาดประชิดกับเขียงนากลางนาที่เคยปลูกข้าว ปลูกผักหญ้าไว้เก็บกินจิ้มปลาแดก ปลาแจ่ว เปิบปั้นข้าวเหนียว เขียงนาที่เคยเป็นที่พักป้องแดดกินข้าวเอนกายตอนเที่ยงวัน เป็นเพียงตัวอย่างสิ่งปลูกสร้างที่หลงเหลือไว้เป็นสัญลักษณ์ของนาข้าวในอดีตที่ดูเกะกะสายตา ร้านสะดวกซื้อจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ชาวบ้านนาจะได้อาศัยอุ้มลูกจูงหลานเข้าไปพักผ่อน ไปพักร้อนผึ่งรับไอเย็นจากเครื่องปรับอากาศทันสมัย เข็นรถเข็นเล่นกันในร้านแทนการขี่ควายเลี้ยงวัวกลางทุ่งที่แสนทรมาน
    ผู้หญิงคนหนึ่งที่มีสายเลือดของความเป็นครู ที่ตลอดชีวิตเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ได้เห็นเยาวชนที่มีแต่หัวทิ่มลงสู่นรกอเวจี เยาวชนที่ปราศจากผู้นำชี้แนะทิศทางที่ถูกต้อง เธอเฝ้ามองชีวิตเยาวชนที่แวดล้อมอยู่รอบตัวเธอด้วยความรู้สึกหดหู่ เมื่อจังหวะชีวิตประจวบเหมาะ เธอจึงหันมาทุ่มเททุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือสังคม ด้วยการปูพื้นฐานฝังรากลงเข็มให้เยาวชนทั้งหลายได้เข้าสู่ธรรมของพุทธศาสนา ให้ได้รู้จักสิ่งดีประเสริฐสุดของชีวิต อันเป็นการวางกรอบของความเชื่อมั่นในตัวเองและปลูกสร้างศรัทธาให้เป็นเกราะแก้วแห่งธรรมไว้ปกป้องตัวเยาวชนเอง อันเป็นการเสริมการศึกษาพื้นฐานของรัฐ อาจารย์สตรีคนนี้คือ ดร. ตุ๊ก ของผม ที่ผมรู้จักคุ้นเคยและยกย่องเธอ
    จากความเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ดร.ตุ๊กได้มีโอกาสข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนทางด้านภาษาศาสตร์และการสอนภาษาต่างประเทศที่ประเทศฝรั่งเศส จนจบการศึกษาขั้นสูงสุดได้ปริญญาเอกเกียรนิยมยอดเยี่ยม
    เมื่อกลับเมืองไทยแล้ว ดร.ตุ๊กก็รับราชการต่อไปเพื่อถ่ายถอดความรู้ให้แก่วงการศึกษาของไทย จากที่เป็นชาวกรุงเทพฯ ก็เหมือนย้ายถิ่นฐานไปปักหลักเป็นชาวโคราชลูกหลานย่าโม เธอได้ค้นพบความสุขที่แท้จริงจากพระพุทธศาสนาที่เธอได้ปฏิบัติตัวปฏิบัติใจถวายด้วยความเชื่อมั่นศรัทธา และเธอเชื่อมั่นว่าพุทธธรรมนี่แหละที่จะแก้ปัญหาหนักอกของสังคม จากการที่เยาวชนหันเหชีวิตไปในทางที่ล่อแหลมต่อความเสื่อมเสีย เมื่อโอกาสลงตัว เธอจึงสละคราบความเป็นนักวิชาการ สละชีวิตที่แสนจะสบายด้วยฐานะทางสังคม ฐานะทางอาชีพการศึกษาที่ได้อุทิศตัวครึ่งค่อนชีวิต สละแม้ความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ เงินเดือนประจำที่ใช้เลี้ยงชีพ ออกจากระบบราชการ รับบำนาญที่ได้เพียงเดือนละ ๑๖,๐๐๐ บาท มาสวมบทบาทของความเป็นแม่ เป็นครูของเด็กๆ จัดการอบรมให้เด็กๆ ได้เข้าถึงธรรม ซึ่งจะนำมาสู่การเข้าใจชีวิต การรู้จักตนเอง เธอเอาใจใส่ เคี่ยวเข็ญเด็กๆ เหมือนแม่บังเกิดเกล้าที่ต้องอุ้มชูลูก เยาวชนนับเป็นหมื่นๆ คนได้เข้าร่วมในแผนการอบรมของเธอในแต่ละปี
    ดร. ตุ๊ก อายุมากพอควรแล้ว เธอไม่อยากดีอยากได้อะไรในชีวิตอีกแล้ว มุ่งเก็บตัวเงียบอยู่ในป่าของธรรม ที่วัดวะภูแก้ว ตำบลมะเกลือใหม่ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับวัดนี้ แต่ก็ไปไม่ยากครับ บนเส้นทางถนนมิตรภาพจากกรุงเทพฯ ไปนครราชสีมา (โคราช) ต้องผ่านทางแยกเข้าไปวัดของเธอ วัดอยู่ใกล้กับเขายายเที่ยงที่หลายคนรู้จักชื่อเสียงเมื่อไม่นานมานี้ เลยเขายายเที่ยงออกไปหน่อยก็จะเป็นลำตะคอง เลยไปอีกนิดจะเห็นทางต่างระดับแยกไปอำเภอปักธงชัยและโชคชัย เข้าถนนซ้ายเส้นนั้นเลย ตรงไปเรื่อยๆ อีกประมาณไม่ถึง ๑๐ กม. ก็ถึงทางแยกมะเกลือใหม่ เลี้ยวกลับ (ยูเทิร์น) เพื่อเลี้ยวซ้ายเข้าไปน้ำตกวะภูแก้วและวัดวะภูแก้ว วิ่งตรงไปเรื่อยๆ ประมาณ ๑๒ กม. ก่อนถึงน้ำตกวะภูแก้ว ๒ กม. ทางซ้ายมือก็เป็นวัดวะภูแก้ว
    เมื่อเข้าไปในวัด จะเห็นศาลาใหญ่จุคนได้เกือบพัน เป็นศาลาปฏิบัติธรรม คือส่วนหนึ่งของวัดวะภูแก้ว ของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ผู้ได้เมตตาทิ้งมรดกโครงการอบรมพัฒนาจิตแก่เยาวชนภาคอีสานไว้ให้ ดร.ตุ๊ก และคณะ สานต่อความตั้งใจของท่านที่จะเสริมสร้างเยาวชนให้เป็นผู้ที่มีศีล สมาธิ และปัญญานำทางชีวิต
    นอกจากปฏิบัติรับใช้หลวงพ่อพุธแล้ว ด้วยแรงใจที่แข็งแกร่ง และด้วยแรงศรัทธาต่อพ่อแม่ครูอาจารย์องค์หลวงตามหาบัว ดร.ตุ๊กได้ทุ่มเททั้งกายและใจเพื่อถวายงานให้กับองค์หลวงตา ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรที่เกี่ยวข้องกับองค์หลวงตา ดร.ตุ๊กจะออกเดินหน้าทุ่มทั้งตัวและใจไม่มีวันหมด ให้งานสำเร็จดังใจปรารถนา เพื่อสร้างบุญบารมีร่วมกับองค์ท่าน ดร.ตุ๊ก เป็นผู้ที่มั่งคั่งด้วยความรู้ มีความมุ่งมั่นที่จะสานต่องานของหลวงพ่อพุธผู้เป็นเหมือนบิดาทางธรรมองค์หนึ่งของเธอให้ดำเนินต่อไปให้ได้
    เธอเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ โดยความเมตตาอุปการะและแนะนำชี้ทางจากหลวงพ่อตั้งแต่ครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ทีมทำงานมีอยู่จำนวนไม่มาก ต่างทำงานกันจนล้นมือ การอบรมเด็กนักเรียนมี ๒ หลักสูตร หลักสูตรเด็กเล็ก (ชั้นป.๔-ม.๑) ใช้เวลา ๓ วัน ส่วนเด็กโต (ชั้น ม.๒-อุดมศึกษา) ใช้เวลา ๕ วัน ตลอดเวลา ๑๐ เดือนที่เปิดภาคเรียน มีเด็กเข้าอบรมรุ่นละประมาณ ๓๘๐ คน มีทั้งทฤษฎีที่มีการบรรยายธรรมเป็นระยะ และภาคปฏิบัติที่ให้เด็กได้ถือศีล ทำวัตรเช้า-เย็น เดินจงกรม ทำสมาธิ ในตอนเย็นมีชั่วโมงแลกเปลี่ยนประสบการณ์และทำข้อวัตรต่อ ก่อนนอนสวดมนต์แผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลและสำรวจศีล
    สิ่งสำคัญที่สุด ก่อนที่การอบรมจะจบสิ้นลง ดร.ตุ๊กให้เด็กได้ทำความสงบระลึกถึงพระคุณของพ่อและแม่ ผู้ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้มีอุปการคุณ ให้ลูกๆ เหล่านี้พิจารณาดูว่าพ่อแม่มุ่งหวังอะไรกับลูกๆ ให้เด็กๆ พิจารณาถึงการเกิดแก่เจ็บและตาย ความไม่ประมาท ให้รู้จักตอบแทนพระคุณพ่อแม่ตามกำลังความสามารถด้วยการประกอบแต่กรรมดี มีจิตใจอยู่ในศีลธรรม จากนั้นให้สำรวจตัวเอง ให้รู้จักตนเอง แล้วทำสัญญาใจเป็นลายลักษณ์อักษร ตั้งสัจจะอธิษฐานเพื่อปรับปรุงและพัฒนาตนเอง แล้วมอบสัญญาใจนี้ให้พ่อแม่ผู้ปกครองและครูอาจารย์
    โครงการอบรมพัฒนาจิตที่ ดร.ตุ๊ก ทำอยู่นี้ ต้องใช้กำลังเงินในการบริหารจัดการ เด็กแต่ละรุ่นที่มาเข้าอบรมในแต่ ละสัปดาห์มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ด้อยฐานะทางเศรษฐกิจ ดร.ตุ๊กจึงต้องบริหารจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการด้วยตัวเอง โดยอาศัยเงินบริจากและดอกผลจากมูลนิธิสายธารธรรมที่หลวงพ่อพุธท่านได้สร้างไว้ให้ด้วยเงินจำนวน ๓.๘ ล้านบาท ได้ดอกผลมาใช้จ่ายเพียงปีละประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งดอกผลนี้จะน้อยลงตามลำดับ เพราะอัตราดอกเบี้ยลดลงจนเกือบไม่ได้ผลประโยชน์ใดๆ
    เด็กเล็กที่เข้ามาอบรม ๓ วัน ไม่เก็บค่าอาหาร (วันละ ๓ มื้อ) เก็บเฉพาะค่าวิทยากรเพียง ๓๐ บาท (ค่าตอบแทนวิทยากรทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาส ทีมละ ๖ - ๑๐ ท่าน) ส่วนเด็กโตเก็บค่าอาหาร ๕๐ บาท (ตลอด ๕ วัน) และค่าวิทยากร ๕๐ บาท ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกินมา ดร.ตุ๊กต้องบอกบุญขอบารมีของพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงตามหาบัวสงเคราะห์ข้าวสารเพื่อมาหุงหาให้เด็ก นอกนั้นต้องจัดการหาเองทั้งหมด สรุปว่า ดร.ตุ๊กต้องใช้ปากอบรมเด็ก พร้อมกับใช้ปากบอกบุญไปทั่ว ตลอดระยะเวลาเกือบ ๒๐ ปีที่เธอทำโครงการนี้ เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมปลูกฝังพุทธศาสนาไว้ตั้งแต่ยังเล็กๆ เป็นไม้อ่อน ให้รู้จักเรื่องบาปบุญคุณโทษ ปรับปรุงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น มุ่งมั่นสร้างแต่ความดี โดยเธอปฏิบัติตัวเองให้เป็นแบบอย่างแก่เด็กๆ ในฐานะที่เป็นแม่พิมพ์ที่มีคุณภาพและมีชีวิตที่ดีงาม
    ดร.ตุ๊กไม่ได้สบายอย่างที่หลายคนเข้าใจ ภาพลักษณ์ที่มองเธอจากภายนอก เธอเป็นผู้ที่นิยมแต่งชุดไทยที่ประณีตงดงาม จนเป็นเอกลักษณ์ของเธอ แต่ใครเลยจะรู้ว่าใจของเธอไม่ได้มีความสบายเลย แม้หน้าของเธอจะมีรอยยิ้ม แต่สมองของเธอต้องคอยคิดอยู่ตลอดเวลาที่จะหาค่าใช้จ่ายในการอบรมเด็ก ที่เข้ามาปีละ ๑๐ เดือน ทุกสัปดาห์ แต่จะมีประมาณ ๓๘๐ คน รวมแล้วปีละ ๑๕,๐๐๐ คน ให้ตลอดรอดฝั่งให้ได้
    ดร.ตุ๊กเธอต้องรับหน้าที่ทุกเรื่อง มาในปีสองปีนี้เธอก็หาภาระมาแบกหามเพิ่มเติมอีกด้วยความสงสารและสังเวชเด็กๆ ที่มาอบรม เธอเห็นสภาพความยากจนของครอบครัวเด็ก จากที่บ้านเมืองเศรษฐกิจซบเซา จนแม้กระทั่งชุดนักเรียนและรองเท้าที่สวมใส่ก็เก่าจนดูไม่ได้ เธอต้องควักเงินส่วนตัวซึ่งไว้เลี้ยงชีพตัวเองจริงๆ กับบอกบุญเพื่อนฝูงหรือคนที่สนิทสนมคุ้นเคย เพื่อหาเงินมาซื้อชุดนักเรียนทั้งชาย–หญิงในราคาต้นทุนโรงงาน มาสำรองไว้ และพิจารณานักเรียนที่เข้าโครงการอย่างถี่ถ้วน เพื่อมอบชุดใหม่ให้ทดแทนชุดเดิมที่แทบจะเป็นผ้าขี้ริ้ว เด็กบางคนมีชุดนักเรียนเพียงชุดเดียวจริงๆ บางคนตัวแคระแกร็นเล็กกว่าอายุ ก็ขอเสื้อผ้าตัวใหญ่ๆ เกินขนาดมากเพื่อจะใส่ได้นานๆ จนคุณครูที่แจกต้องแอบเช็ดน้ำตา พอถึงช่วงฤดูหนาว ก็ทำใจไม่ได้ที่เห็นลูกศิษย์ที่วัดกันหลายคน ตัวสั่นงันงกด้วยความหนาว จึงต้องจัดหาซื้อเสื้อกันหนาวแจกให้เพื่อบรรเทาความหนาว
    ผมเขียนเรื่องของเธอเล่าสู่ท่านนี้ ก็เพื่อต้องการบอกกับเธอว่า ผมขอขอบคุณแทนเด็กๆ ที่เธอได้อุทิศตัวสงเคราะห์ นี่เป็นเพียงเยาวชนส่วนเดียวของชาติที่เธอได้มีโอกาสช่วยเหลือ ยังมีเยาวชนอีกมากครับที่ต้องการนางฟ้าจากสวรรค์เช่น ดร.ตุ๊กมาให้ความช่วยเหลือ สร้างทางบุญให้แก่พวกเขาทั้งหลาย
    จุดประสงค์อีกประการหนึ่งก็คือ อยากจะกราบขอความกรุณาจากท่านทั้งหลายที่มีโอกาสได้อ่านบทความนี้ หากท่านเห็นประโยชน์ของโครงการฯ และต้องการทำบุญกุศลร่วมกับ ดร.ตุ๊ก และพ่อแม่ครูอาจารย์ เพื่อสงเคราะห์เยาวชนผู้เปรียบเสมือนเป็นต้นอ่อนที่กำลังจะเติบโตเป็นต้นกล้า ให้เห็นแสงธรรมดังที่ท่านได้เห็นและประจักษ์แก่ท่านเองว่าผลของบุญเป็นอย่างไร ขอท่านได้โปรดสงเคราะห์สละเงินคนละเล็กละน้อย ให้ดร. ตุ๊กเธอได้ประคองโครงการฯ ของเธอได้ลุล่วงตลอดไปด้วย สงสารเด็กและให้กำลังใจ ดร.ตุ๊กด้วยเถิดครับ ชีวิตของเธอก็อุทิศให้เด็กๆ อย่างเต็มกำลังอยู่แล้ว เธอคือนางฟ้าจากสวรรค์มาเกิดเพื่อเสริมสร้างคุณภาพให้แก่เด็กๆ ทั้งหลาย ช่วยเธอสักนิดนะครับ ให้เธอมีกำลังใจทุ่มเทให้กับเด็กเต็มที่ ไม่ต้องคอยพะวงถึงเรื่องการหาทุนทรัพย์มาใช้จ่าย เพียงท่านช่วยกันคนละเล็กละน้อย เธอก็ดีใจแล้ว
    ดร. ตุ๊กไม่เคยหวังสิ่งตอบแทนใดๆ จากการอุทิศตัวเสียสละในงานนี้ เธอไม่หวังที่จะได้รับการยกย่องเป็นครูดีเด่น เป็นแม่พิมพ์ตัวอย่างเลย เธอเคยพบประสบการณ์ที่ถ้าเป็นคนอื่นที่ใจไม่ได้ครองธรรม คงจะเจ็บช้ำจนต้องออกมาโวยวายหาความเป็นธรรมแล้ว จากการที่เธอรณรงค์หาทุนทรัพย์ให้เด็กอีสานได้มีค่าใช้จ่ายส่วนตัวบ้างปีละเล็กละน้อยจากผู้มีจิตศรัทธา ทำร่วมกับเพื่อนๆ มาหลายปี หาเงินรวมแล้วได้หลายล้าน แต่ก็กลายมาเป็นผลงานรับความดีความชอบตามระบบราชการของผู้อื่น น่าเจ็บช้ำน้ำใจไหมครับ แต่เธอก็ไม่เคยมีปฏิกิริยาใดๆ เด็กๆ ที่เธอมุ่งหวังคลายความขัดสนได้บ้าง ให้ก็ได้สมดั่งที่เธอหวัง เพียงเท่านี้ก็เพียงพอสำหรับเธอแล้วครับ
    ดร.ตุ๊กเธอเป็นสาวโสด แต่เธอเป็นแม่ของเด็กปีละเป็นหมื่นคน พวกเรามาช่วยเธอให้เป็นแม่ของเยาวชนที่จะช่วยกันสืบทอดพุทธศาสนาให้ยืนยาวไปจนครบพุทธกาลนะครับ ดร.ตุ๊กไม่ได้ทำเพื่อหาเลี้ยงชีพด้วยเงินที่ได้จากท่านผู้ใจบุญ เธอมีบ้านเล็กๆ ที่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงเงินเดือนข้าราชการ อยู่ในโคราช เลี้ยงชีวิตด้วยเงินบำนาญเพียงเดือนละ ๑๖,๐๐๐ บาท เธออาศัยวัดเป็นที่ทำงานเพื่อเอาบุญ ได้อาศัยข้าววัดกินพร้อมกับเด็ก เธอทำเพราะเธอรักเด็ก อยากเห็นเด็กโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ อยากให้เด็กมีอนาคตที่ดี เธอจึงต้องทำตามที่ใจและสัญญาที่ติดภพติดชาติมาสั่งให้เธอทำ
    ท่านที่ประสงค์จะเมตตาสงเคราะห์โลก ช่วยดร. ตุ๊กให้ทำงานได้สะดวกขึ้นบ้าง ก็ขอความกรุณาสละทรัพย์คนละเล็กคนละน้อยสงเคราะห์เด็กโดยผ่านเธอ จะเป็นพระคุณยิ่ง ดร.ตุ๊กทำงานในนามของวัด ไม่ใช่ของตัวเธอเอง การเงินในการบริหารโครงการทุกอย่างมีระบบบัญชีตรวจสอบตามมาตรฐาน ติดต่อกับเธอได้ที่โทร. ๐๘๕-๒๐๐-๙๕๗๕ และ ๐๘๖-๘๗๒-๒๒๗๕ หรือบริจาคเงินเพื่อเสริมทานบารมีของท่านเอง โดยโอนเงินเข้า
    ชื่อบัญชี วัดวะภูแก้ว เพื่อโครงการอบรมพัฒนาจิต
    ธนาคาร ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาถนนมิตรภาพ
    เลขที่บัญชี 666-2-38429-4
    ขอผลของการทำบุญสงเคราะห์ช่วยเหลือ ดร.ตุ๊กในครั้งนี้ ของท่าน จงดลบันดาลให้ท่านประสบความสำเร็จในทุกสิ่งที่ปรารถนาครับ

    ท่านผู้สนใจหนังสือ โปรดติดต่อ คุณสุทัศน์ ชาญวิเศษ หรือ คุณหลวง
    โทร. 02-900-7418, 086-341-263

หนังสือ

  • เรื่องราวของคนต่างศาสนาที่หันมายอมรับนับถือพระพุทธศาสนา และมุ่งมั่นที่จะอุทิศตนเพื่อสร้างประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาจวบจนลมหายใจสุดท้าย จนเป็นที่ยอมรับและกล่าวขานถึงในหมู่พ่อแม่ครูอาจารย์สายพระป่ากรรมฐาน...

  • "หลวงพ่อเร่งอบรมเด็กๆ ระดับมัธยม ปลูกนิสัยเด็กรุ่นใหม่ ให้เขาเข้าใจเรื่องศาสนาให้ถูกต้อง...
    ...แล้วอีกอย่างหนึ่งเราไปเล่นกับเด็กนี่มีแต่ให้กับให้....
    ข้อความข้างต้นนี้เป็นคำกล่าวของพระราชสังวรญาณ(พุธ ฐานิโย) อดีตองคอุปถัมภ์โครงการอบรมพัฒนาจิต ณ วัดวะภูแก้ว อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา

    โครงการนี้ยืนยาวมากกว่า 25 ปี ทั้งที่เป็นงานทวนกระแสและความรู้สึกของคนยุคใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าศาสนาเป็นเรื่องงมงาย มอมเมา ทำให้สังคมไม่เจริญ การนั่งสมาธิเป็นเรื่องของคนบ้า หลับหูหลับตาหนีโลกหนีปัญหาก ครูบาอาจารย์หลายท่านก็ยังเห็นว่าการนำเด็กมาปฏิบัติธรรมที่วัด 4-5 วัน เสียเวลาเรียน และเสียเงินเสียทองโดยใช่เหตุ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างนี้แพร่ขยายไปในทุกวงการ...อ่านต่อ(คลิกที่ภาพ)

  • ๘ กุมภาพันธ์ เป็นวันครบรอบชาตกาลของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย คณะศิษย์ได้จัดทำหนังสือธรรมะเผยแผ่เป็นธรรมบรรณาการเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ เป็นต้นมา โดยหนังสือเล่มแรกที่จัดทำในโอกาสมงคลนีใช้ชื่อว่า " ธรรมวิสัชนา" และเริ่มใช้ชื่อ "ฐานิยปูชา" ตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ ในโอกาสครบ ๖ รอบชาตกาล มาจนถึงปัจจุบัน คือ "ฐานิยปูชา ๒๕๖๒...คลิกที่ภาพเพื่ออ่านต่อ

  • คลิกที่ภาพเพื่อดาวน์โหลดหนังสือ ฐานิปูชา ปี 2535 - 2563

ประวัติการศึกษา ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม

ปริญญาตรี:
อักษรศาสตร์บัณฑิต วิชาที่เรียน ภาษาฝรั่งเศส1 ภาษาฝรั่งเศส2 ภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ปริญญาโท :
อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปริญญาเอก :

Doctorat de l'Université de Grenoble III สาขาLinquistique et didactique des langues(mention très honorable)เมือง Grenoble ประเทศฝรั่งเศส

*(สาขาภาษาศาสตร์และการสอนภาษาต่างประเทศ คะแนนเกียรตินิยมดีเยี่ยม เป็นอันดับ 1 ของรุ่น)



มัธยมศึกษาปีที่ 5
โรงเรียนสตรีวิทยา
(ได้คะแนนเป็นอันดับที่ 43 ของประเทศ)


คำสั่งของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล..."เอาไปสอนคนอื่น แล้วช่วยแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ด้วย"...
ต้นฉบับเอกสารโรเนียว ที่หลวงปู่มอบให้นำไปแปล

Click to read คลิกเพื่ออ่าน
Citta is ฺBuddha จิต คือ พุทธะ

 

 

เกียรติประวัติ ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม

ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9
พระราชทานของที่ระลึกในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเปิด "บูรพาจาร์ยเจดีย์" ณ วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา



ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
เสด็จ ฯ พระราชทานเสาเสมาธรรมจักร งานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา ปี 2540
ณ ท้องสนามหลวง เขตพระนคร วันที่ 14 พฤษภาคม 2540


ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม

 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ประทานของที่ระลึกแด่ผู้สนับสนุนวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน
(ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม เป็นผู้อำนวยการวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน นครราชสีมา)

ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม
ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม

ได้รับการประกาศเกียรติคุณจากสภาการศึกษาเป็นครูภูมิปัญญาไทย ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี รุ่นที่ 2 ประจำปี 2544
รับเกียรติบัตรจากท่านองคมนตรี นพ.เกษม วัฒนชัย
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2545

ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม อักษารจรัสดร.ดาราวรรณ เด่นอุดมดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม

ดร. ดาราวรรณ เด่นอุดม ได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน อักษรจรัส ของ อักษร จุฬา ฯ รุ่น 37
คลิกอ่านต้นฉบับ 

ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม
ได้รับการคัดเลือกจาก สตรีวิทยาสมาคม ให้เป็น " นารีศรี สตรีวิทยา" ปี 2559-2560
คลิกอ่านต้นฉบับ


 

Visitors: 76,276